top of page

10 ข้อแนะนำจากแพทย์ ในการเลือกศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ - Health at Home Care Center

อัปเดตเมื่อ 9 ก.พ. 2566


ในปีที่ผ่านมา มีคำถามหนึ่งที่ผมต้องตอบอยู่เรื่อยๆ คือ “จะเลือกศูนย์ดูแลผู้สูงอายุให้คุณพ่อ หรือ คุณแม่อย่างไรดี ?”​


เนื่องจากตัวผมเองเป็นคุณหมอที่ดูแลผู้สูงอายุ และตัวธรุกิจที่ทำอยู่ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง การได้รับคำถามนี้บ่อยๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร


ผมจึงคิดว่าน่าจะรวบรวมหลักการ และคำตอบเขียนเป็นบทความ น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่กำลังหาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุให้คุณพ่อ หรือ คุณแม่นะครับ


Disclaimer

ก่อนอื่น ต้องขอออกตัวว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้ ล้วนมาจากประสบการณ์ของตัวผมเอง ไม่ได้มีข้อมูลวิจัยรองรับ 100% นะครับ

เนื่องจากตัวผมเองก็ได้เปิดให้บริการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การเขียนบทความนี้ นอกจากให้ความรู้แล้ว ก็คงอยากให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Health at home Care center ด้วย แต่การเขียนนี้ตั้งใจให้เป็นความรู้ที่เป็นสากล ใช้ได้ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะอยู่ที่ประเทศไหนนะครับ


เอาละครับถ้าพร้อมแล้วไปดูว่า ผมแนะนำหลักการเลือกอย่างไรบ้าง มีทั้งหมด 10 ข้อด้วยกันครับ


1.กลิ่น

หลายคนอาจจะงงว่า ทำไมยกเรื่องกลิ่นมาพูดเป็นเรื่องแรก แต่ผมจากประสบการณ์ทำงานมาหลายปี ผมพบว่า “กลิ่น” เป็นตัวชี้วัดที่ดีมาก ในการบอกคุณภาพของการดูแล เพราะ กลิ่นทีจัดการยากที่สุดคือกลิ่นจาก อุจจาระ และปัสสาวะ เนื่องจากเครื่องฟอกอาการ หรือ แอร์ก็ไม่สามารถจัดการกลิ่นนี้ได้


การจะไม่มีกลิ่นอุจจาระ และปัสสาวะ มีเพียงต้องมีการทำความสะอาดตัวคนไข้ต่อเนื่อง ไม่ทิ้งให้ค้างไว้ และ การทำความสะอาดพื้นผิวสถานที่ อย่างสม่ำเสมอ


ดังนั้น หากศูนย์ดูแลผู้สูงอายุมีกลิ่นสะอาดสดชื่น เมื่อเดินเข้าไปแล้วน่าจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีเลยทีเดียว


2.กิจกรรม

ผู้สูงอายุ เมื่ออยู่ในศูนย์แล้ว สิ่งที่จะทำให้แต่ละวันมีสีสัน คือกิจกรรม ไม่เช่นนั้นทุกวันที่ผ่านไปเหมือนเดิม เป็นเรื่องที่น่าเบื่อและเหี่ยวเฉาอยุ่ไม่เบา ดังนั้นเราต้องสอบถามว่า ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุนั้น มีห้องทำกิจกรรมหรือไม่ แล้วมีกิจกรรมอะไรบ้างในแต่ละวัน หรือ ควรสอบถามว่า ปกติ คนไข้หากช่วยเหลือตัวเองได้น้อยแล้ว มีคนคอยพาลงจากเตียง มายืน หรือ นั่งรถเข็นบ้างหรือไม่ เพราะการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญ บางศูนย์อาจจะให้คนไข้อยู่บนเตียงทั้งวันทั้งคืน ซึ่งการที่คนไข้ได้เคลื่อนไหว จะทำให้กล้ามเนื้อลีบลงได้เร็วกว่าปกติ (ปกติกล้ามเนื้อผู้สูงอายุที่ไม่ออกกำลังกาย อาจจะลีบลง 5% ทุกปี แต่หากไม่มีการเคลื่อนไหวเลย อาจเป็น 5% ทุกอาทิตย์ หรือเดือน) เราอาจเคยเห็นเคสที่ผู้สูงอายุที่ป่วยเข้า ICU หรือ รพ แล้วไม่สามารถกลับมาเดินได้ปกติจากภาวะกล้ามเนื้อลีบอยู่บ้าง


กิจกรรมที่ผู้สูงอายุชอบก็คงแตกต่างกันไปในแต่ละคน อย่างสองปีที่ผ่านมาที่ทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ กิจกรรมที่ทีมพยายามคิดก็มีหลากหลาย แต่ที่ฮิตสุดคือ การเล่นไพ่ครับ รองลงมาคือการทำอาหารง่ายๆ เช่นแซนวิช กิจกรรมร้องเพลง ก็เคยได้รับความนิยมสูงแต่พอมีโควิดมาเราก็งดจัดกันไป คงต้องดูกันต่อไปว่าหลังโควิดแล้วกิจกรรมอะไรจะฮิต



3.สถานที่ตั้ง

สถานที่ตั้งนั้นไกลจากบ้านเรามากหรือไม่ เราจะมาเยี่ยมได้บ่อยหรือไม่ จากการสำรวจที่ผมทำกับผู้รับบริการ ตัวเลขที่พบว่าเหมาะสมคือ ไม่เกิน 30 นาที ในการเดินทางจากบ้าน ส่วนระยะทางก็มักจะอยู่ที่ 25-30 Km (แต่ทั้งนี้ก็ขี้นอยู่กับวิธีเดินทาง เพราะถ้ามีทางด่วนใกล้ๆ อาจมีระยะที่ไกลกว่านั้นได้ถ้ารถไม่ติด)



โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง ไกลมากแค่ไหน โดยปกติการส่งตัวไปโรงพยาบาลนั้นมักจะส่งไปที่โรงพยาบาลประจำคนไข้ แต่ในกรณีฉุกเฉิน อาจต้องเลือกส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด การส่งได้เร็วแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา เพราะการส่งตัวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะเปราะบาง


4.บุคคลากร

ทีมงานศูนย์ผู้สูงอายุนั้นๆ มีแพทย์เป็นที่ปรึกษาหรือไม่ มีแพทย์มาตรวจเยี่ยมหรือเปล่า การมีแพทย์เป็นที่ปรึกษาก็จะช่วยลดปัญหาเล็กๆน้อยๆ เช่นการปรับยา การปรึกษาเมื่อคนไข้มีอาการเปลี่ยนแปลง อาจช่วยลดการส่งตัวไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นได้ พยาบาล หรือ ผู้ช่วยพยาบาลมีวุฒิถูกต้องหรือไม่ เพราะ มีบางศูนย์ที่อาจไม่ได้ใช้บุคคลากรทางแพทย์ หรือ เป็นคนต่างด้าว ซึ่งในกรณีหลัง การสื่อสารก็อาจทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนทางการรักษาได้เช่นกัน



5.การจัดการข้อมูล

ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุนั้นมีการเก็บข้อมูลคนไข้แบบใด เป็นแบบดิจิตอล หรือ กระดาษ ซึ่งเราสามารถขอดูฟอร์มการเก็บข้อมูล หรือ ใบส่งตัวได้ เพราะเวลาส่งตัวนั้น ข้อมูลของคนไข้จะมีประโยชน์อย่างมาก สำหรับแพทย์เจ้าของไข้ หรือ แพทย์ที่รับการรักษาต่อ การลงข้อมูล การบันทึกเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับผมเองคิดว่า Data is life ดังนั้นหากการเก็บข้อมูลมีระบบที่ดี การดูแลรักษาก็มักจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า


6.ราคา

เราต้องดูให้ดีว่าราคา ที่ศูนย์ผู้สูงอายุคิดนั้นมีอะไรรวมอยู่บ้าง เพราะบางครั้งราคาแรกเข้า อาจไม่ได้รวมอีกหลายอย่าง เช่น ค่าเยี่ยมแพทย์ ค่าอาหาร ค่ากิจกรรม ค่ากายภาพ ค่าอุปกรณ์ พอเข้าพักจริงๆแล้วอาจจะสูงกว่าที่ได้รับแจ้งครั้งแรก ดังนั้นจึงควรสอบถามรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจเข้าพัก

ตัวอย่าง "ราคาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ" ข้อมูล ณ วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2566


แม้การดูแลระยะยาวทำให้เราต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย แต่การจ่ายในราคาที่ถูกเกินไป แต่หากการดูแลไม่ดี ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อาจจะกลายเป็นต้องจ่ายแพงกว่าทีหลังก็เป็นได้

7.รีวิว

ปัจจุบันนี้ เราสามารถดูรีวิวใน Google review, Web board หรือ Social network ก็อาจช่วยเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าศูนย์ดูแลผู้สูงอายุนั้นๆ มีเสียงตอบรับเช่นไร แต่ถ้าดีที่สุดก็คงต้องเป็นคนที่เรารู้จัก


8.ผู้จัดการศูนย์ หรือ ผู้ประสานงาน

โดยปกติศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จะมีผู้จัดการ หรือผู้ประสานงานหลัก ซึ่งหลังจากที่คุณพ่อ คุณแม่เราได้เข้าไปพักอาศัยแล้ว เขาจะเป็นคนที่เราติดต่อประสานงานบ่อยที่สุด ดังนั้น เราต้องดูว่าเขาให้บริการดีไหม พูดจารู้เรื่องหรือไม่


9.ห้องน้ำ ผู้รับบริการเป็นอย่างไร

ทิปก่อนข้อสุดท้าย ผมแนะนำให้ลองขอเข้าห้องน้ำดู เพราะห้องน้ำที่ดี น่าจะบอกถึงการใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อยของศูนย์ได้เป็นอย่างดีครับ หากห้องน้ำสำหรับแขกที่ให้บริการไม่ดี มีโอกาสสูงว่าภายในอาจจะแย่กว่าที่เราได้สัมผัส


10.ถามตัวเราเอง

ผมมักบอก ทุกคนว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ได้ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ ให้ถามตัวเองว่า “ถ้าเป็นเรา เราจะอยู่ไหม?” เพราะส่วนใหญ่เรามักเลือกให้คนไข้ แต่ถ้าลองคิดอีกมุมว่า เราต้องมานอนอยู่ในที่แห่งนี้ เราจะอยู่หรือเปล่า หากคำตอบของเราคือ ถ้าเป็นตัวเราเองก็ไม่อยากอยู่ ดังนั้นคนไข้เองก็มีโอกาสไม่อยากอยู่เช่นกัน


ตอนผมเปิดศูนย์ครั้งแรก ผมก็ได้ลองใส่ชุดคนไข้นอน ทดลองอยู่เองว่า การใช้ชีวิตต่างในศูนย์เป็นอย่างไร เวลานอนมองขึ้นเพดานเป็นอย่างไร แสง เสียงตอนกลางคืน อาหารรสชาติโอเคหรือไม่


สรุป

หลักการดังกล่าว ก็เป็นเกณฑ์เวลาผมไปตรวจเยี่ยมศูนย์ Health at home care center ทุกครั้งเช่นกัน ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านนะครับ


การตัดสินใจเลือกศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของ ลูกๆ หรือ ญาติทุกคน ผมคิดว่าไม่ต่างจากการเลือกโรงเรียนให้ลูก หรือ เลือกที่อยู่ให้กับตัวเราเอง ด้งนั้นขอเป็นกำลังใจให้กับผู้อ่านทุกท่าน ขอเป็นกำลังใจให้กับช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ และเป็นกำลังใจให้ทุกคน ครับ


นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ

อายุรแพทย์

ผู้ก่อตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เฮลท์ แอท โฮม แคร์ เซ็นเตอร์


bottom of page